การเรียนโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน




การเรียนโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน
ลักษณะของการจัดการศึกษาแบบ RBL มีดังนี้ คือ
หลักการที่ 1 แนวคิดพื้นฐาน เปลี่ยนแนวคิดจาก ‘เรียนรู้โดยการฟัง/ตอบให้ถูก’ เป็น ‘การถาม/หาคำตอบเอง
หลักการที่ 2 เป้าหมาย เปลี่ยนเป้าหมายจาก ‘การเรียนรู้โดยการจำ/ทำ/ใช้’ เป็น ‘การคิด/ค้น/แสวงหา
หลักการที่ 3 วิธีสอน เปลี่ยนวิธีสอนจาก ‘การเรียนรู้โดยการบรรยาย’ เป็น ‘การให้คำปรึกษา’ หลักการที่ 4 บทบาทผู้สอน เปลี่ยนบทบาทผู้สอนจาก ‘การเป็นผู้ปฏิบัติเอง’ เป็น ‘การจัดการให้ผู้เรียน
รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบใช้การวิจัยเป็นฐาน
สมหวัง พิธิยานุวัฒน์และทัศนีย์ บุญเติม (2540) ได้เสนอรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐานไว้ 4 รูปแบบ ได้แก่
1.       การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัย คือการให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติทำวิจัยในระดับต่างๆ เช่น การทำการทดลองในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ การศึกษารายกรณี (Case Study) การทำโครงงาน การทำวิจัยเอกสาร การทำวิจัยฉบับจิ๋ว (Baby Research) การทำวิทยานิพนธ์ เป็นต้น
2.       การสอนโดยให้ผู้เรียนร่วมทำโครงการวิจัยกับอาจารย์หรือเป็นผู้ช่วยในโครงการวิจัย (Under
Study Concept) ในกรณีนี้ผู้สอนต้องเตรียมโครงการวิจัยไว้รองรับเพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ทำวิจัย เช่น ร่วมเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะมีข้อเสียที่ผู้เรียนไม่ได้เรียนรู้กระบวนการทำวิจัยครบถ้วนทุกขั้นตอน
3.       การสอนโดยให้ผู้เรียนศึกษางานวิจัย เพื่อเรียนรู้องค์ความรู้ หลักการและทฤษฎีที่ใช้ในการวิจัยเรื่องนั้นๆ วิธีการตั้งโจทย์ปัญหา วิธีการแก้ปัญหา ผลการวิจัย และการนำผลการวิจัยไปใช้และศึกษาต่อไป ทำให้ผู้เรียนเข้าใจกระบวนการทำวิจัยมากขึ้น
4.       การสอนโดยใช้ผลการวิจัยประกอบการสอน เป็นการให้ผู้เรียนได้รับรู้ว่า ทฤษฎีข้อความรู้ใหม่ๆ ในศาสตร์ของตนในปัจจุบันเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างศรัทธาต่อผู้สอนรวมทั้งทำให้ผู้สอนไม่เกิดความเบื่อหน่ายที่ต้องสอนเนื้อหาเดิมๆ ทุกปี
ทิศนา แขมมณี (2548) ได้กล่าวถึงแนวทางในการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการวิจัยว่ากระบวนการวิจัยคือวิธีวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งผลการวิจัย และผลการวิจัยก็คือผลที่ได้มาจากการดำเนินงาน ดังนั้นแนวทางในการใช้การวิจัยในการเรียนการสอนจึงประกอบด้วยการใช้ผลการวิจัยและใช้กระบวนการวิจัยในการเรียนการสอน การจัดการศึกษาแบบ RBL นั้นมีรูปแบบการจัดการศึกษาดังนี้

RBL ที่ใช้ผลการวิจัยเป็นสาระการเรียนการสอน ประกอบด้วย การเรียนรู้ผลการวิจัย/ ใช้ผลการวิจัยประกอบการสอน การเรียนรู้จากการศึกษางานวิจัย/การสังเคราะห์งานวิจัย
RBL ที่ใช้กระบวนการวิจัยเป็นกระบวนการเรียนการสอน ประกอบด้วย การเรียนรู้วิชาวิจัย/วิธีทำวิจัย การเรียนรู้จากการทำวิจัย/รายงานเชิงวิจัย การเรียนรู้จากการทำวิจัย/ร่วมทำโครงการวิจัย การเรียนรู้จากการทำวิจัย/วิจัยขนาดเล็ก และการเรียนรู้จากการทำวิจัย/วิทยานิพนธ์
ตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ผลการวิจัยประกอบการสอน
การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการนำผลการวิจัยมาพัฒนาความรู้ของผู้เรียนนั้นสามารถนำมาใช้ได้ในทุกรายวิชา ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนได้จัดกิจกรรมการศึกษาแบบใช้วิจัยเป็นฐานโดยใช้ผลการวิจัยเป็นสาระการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาอังกฤษ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาสาระของการใช้กลยุทธ์ในการอ่านภาษาอังกฤษจากผลงานวิจัย ซึ่งผู้เขียนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้คือ
ผู้สอนรวบรวมบทคัดย่อ ผลงานวิจัยเกี่ยวกับกลยุทธ์ต่างๆ ที่ใช้ในการอ่านภาษาอังกฤษ
โดยผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจใฝ่รู้ เกิดข้อสงสัย อยากรู้ อยากแสวงหาคำตอบของข้อสงสัย อีกทั้งแนะนำวิธีการอ่านผลงานวิจัย
(2) ผู้สอนให้ผู้เรียนค้นคว้างานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ทางการอ่านเพิ่มเติม โดยผู้สอนได้
ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูล และงานวิจัยที่ผู้เรียนจะต้องสืบค้นเพื่อการศึกษาหาความรู้
ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนศึกษารายงานวิจัยต่างๆ และสรุปความรู้เพื่อนำมาอภิปราย
ร่วมกัน โดยเน้นการนำเสนอสาระของงานวิจัยอย่างเชื่อมโยงกับสาระที่กำลังเรียนรู้ เช่น การนำกลยุทธ์การอ่านมาใช้ขณะที่อ่านเพื่อพัฒนาทักษะด้านการสรุปใจความสำคัญ หรือพัฒนาทักษะการอ่านเร็ว เป็นต้น  หลังจากนั้นมอบหมายให้ผู้เรียนทำการประเมินใน 2 ประเด็นดังนี้คือ
(1) ประเมินการแสวงหาแหล่งความรู้ต่างๆ
(2) ประเมินการเรียนรู้ของตนเองเกี่ยวกับผลการวิจัย
ประโยชน์จากการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน
เนื่องจากการวิจัยเป็นกระบวนการในการแสวงหาความรู้หรือข้อเท็จจริงโดยมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน เมื่อนำไปใช้ในระดับมหาวิทยาลัยจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างอิสระ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของปรียนันท์ สิทธิจินดา (2552) ที่กล่าวไว้ว่าการเรียนแบบใช้วิจัยเป็นฐานนี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจวิชาที่เรียนมากขึ้น ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชานั้นสูงขึ้น เพราะเป็นการเรียนที่ไม่น่าเบื่อ ไม่จำเจ สนุกสนาน ได้เผยศักยภาพของตนเอง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเป็นการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ เปลี่ยนมุมมอง/ทัศนะของบุคคลให้คิดเป็น มีคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งแตกต่างจากการเรียนแบบอื่นๆ การเรียนแบบนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง สรุปได้ดังนี้คือ
 เปลี่ยนรูปแบบจาก Teaching-Based เป็น Learning-Based
 เปลี่ยนลักษณะการเรียนจาก Passive เป็น Active
 เปลี่ยนจากวิชาเป็นปัญญา
 นักศึกษาได้เรียนรู้ (Learning) มากกว่าการรู้ (Knowing)
 ได้เปลี่ยนแปลงตัวนักศึกษาโดยใช้งานวิจัยเป็นวิถีของการเรียนรู้
การเรียนรู้โดยใช้ทีมเป็นฐาน

การเรียนรู้โดยใช้ทีมเป็นฐาน (Team-Based Learning: TBL)
การเรียนรู้โดยใช้ทีมเป็นฐาน (Team-Based Learning: TBL) เป็นกลยุทธ์การจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันภายในทีมและระหว่างทีม เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียน เกิดการเรียนรู้ในเชิงลึก และเกิดการคิดเชิงวิพากษ์ พร้อมๆ กับเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านการทำงานเป็นทีม
ความเข้าใจในการเรียนรู้โดยใช้ทีมเป็นฐาน
               การเรียนรู้โดยใช้ทีมเป็นฐาน (Team-Based Learning: TBL) เป็นกลยุทธ์การจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันภายในทีมและระหว่างทีม เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียน เกิดการเรียนรู้ในเชิงลึก และเกิดการคิดเชิงวิพากษ์ พร้อมๆ กับเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านการทำงานเป็นทีม
แนวปฏิบัติสำหรับการออกแบบกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้ทีมเป็นฐาน
สำหรับแนวปฏิบัติสำหรับผู้สอน ซึ่งจำเป็นต้องมีการออกแบบกระบวนการเรียนการสอนใหม่ทั้งรายวิชาหรือกลุ่มหัวข้อที่ต้องการ และออกแบบรายละเอียดการดำเนินการเรียนการสอน ตั้งแต่ก่อนเริ่มชั้นเรียน วันแรกของชั้นเรียน หัวข้อสำคัญของแต่ละตอน และชั่วโมงสุดท้ายของการเรียนการสอน ดังมีรายละเอียดดังนี้
1)  ผู้สอนแบ่งหัวข้อในรายวิชาให้เป็นหน่วยเนื้อหาหลักประมาณ 4-7 หน่วย แต่ละหน่วยมีเนื้อหาที่สัมพันธ์กัน นอกจากนี้ควรเตรียมคำถามในลักษณะที่ให้แสดงความคิดเชิงวิพากษ์ประมาณ 1 ถึง 2 ข้อ ในแต่ละหน่วย
2)  ในชั่วโมงแรกของชั้นเรียน ผู้สอนต้องสื่อสารให้ผู้เรียนเข้าใจว่าเหตุใดผู้สอนจึงเลือกใช้กระบวนการเรียนการสอนดังกล่าว และการจัดการเรียนในชั้นเรียนจะเป็นอย่างไร ผู้สอนต้องจัดแบ่งกลุ่มให้เสร็จโดยทั่วไปใช้กลุ่มขนาด 5-7 คน และอธิบายระบบการให้คะแนนจนผู้เรียนเข้าใจและปราศจากความกังวล และสุดท้าย ผู้สอนต้องคิดหามาตรการที่จะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมกลุ่มที่พึงประสงค์และเป็นประโยชน์
3)  มอบหมายงานอ่าน แล้วทำการทดสอบความพร้อมของผู้เรียนโดยใช้แบบทดสอบ RAT โดยทำเป็นรายบุคคลก่อน แล้ว ใช้ข้อคำถามประมาณ 5 คำถาม หลังจากนั้นจึงทำการทดสอบภายในทีมโดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อภิปรายภายในกลุ่ม
4)  ทีมสามารถอุทธรณ์สำหรับคำถามที่ตอบผิดโดยแสดงเหตุผลที่ชัดเจน การมีขั้นตอนนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ทีมทบทวนหลักการและแนวคิดของบทเรียนร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งผู้สอนสามารถให้
5)  ช่วงสุดท้ายของการเรียนการสอน ผู้สอนควรย้ำให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงเนื้อหาที่ได้เรียนรู้ การประยุกต์ใช้เนื้อหาจากการเรียนรู้ คุณค่าของการทำงานเป็นทีมในการผลิตงานหรือแก้ปัญหาที่ยากและท้าทาย ลักษณะการปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงปฏิสัมพันธ์ที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาตัวเองของผู้เรียน
เทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้เป็นทีมได้อย่างไร
                จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี การเรียนรู้เป็นทีมได้มีการประยุกต์ใช้เครื่องมือแบบออนไลน์เพื่อการติดต่อสื่อสาร การขับเคลื่อนของทีมอย่างเป็นพลวัตร เพิ่มศักยภาพของทีมให้เกิด active learning และ deep learning เครื่องมือทางออนไลน์เช่น electronic brainstorming, Asynchronous Learning Network (ALN), WebBoard, WebCT และ synchronous chats เป็นต้น กรอบแนวคิด TBL ออนไลน์
  การใช้ระบบ e-learning เพิ่มสมรรถนะของทีม
ระบบ e-Learning สามารถนำมาใช้ในการทำงานเป็นทีม โดยสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่จัดสิ่งแวดล้อมเสมือนในระบบ e-Learningเพื่อเพิ่มศักยภาพ สมรรถนะในทีมได้เช่น discussion board, virtual classroom, digital drop boxes, task list, calendars เป็นต้น นอกจากนี้ระบบ e-Learning ยังเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารภายในทีมให้สูงขึ้น (Alstete, 2001)
ระบบ e-Learning ที่ได้มาตรฐานและเป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางเช่น Blackboard, WebCT, และ eCollege เป็นระบบที่นิยมใช้ในสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนบนเว็บหรือมีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนทางไกล ระบบ e-Learning ที่ได้มาตรฐานจะราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับความสะดวกในการเข้าถึงเนื้อหาการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ใช้งานง่าย สามารถปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ และมีเครื่องมือต่างๆ ที่จะอำนวยการเรียนผ่านระบบ เพื่อเพิ่มสมรรถนะของทีมได้ดังนี้ (Alstete, 2001)
1)  ข่าวประกาศ (Announcements) สำหรับการทำงานและเรียนรู้ในทีม สามารถใช้ข่าวประกาศเพื่อนัดแนะการประชุมในกลุ่ม โพสท์หัวข้อที่น่าสนใจ ข่าว แบบฝึกหัด โครงการ ฯลฯ ซึ่งง่ายต่อทีมงานที่จะเข้าถึงข้อมูล และใช้งานในวิธีการดังกล่าว เพราะสมาชิกในทีมหรือหัวหน้าทีม สามารถโพสท์ได้ทุกวัน ทุกเวลา ในแต่ละสัปดาห์ที่เรียนได้
2)  นำเสนอประวัติส่วนตัวของหัวหน้าทีมและสมาชิกในทีม (Team leader and member background information) ในระบบ e-Learning สามารถโพสท์ประวัติสมาชิกในทีม เช่น รูปภาพสมาชิก ประสบการณ์การทำงาน การศึกษา ประวัติการฝึกอบรม และข้อมูลอื่นๆ ที่สมาชิกต้องการทราบ ระบบนี้มีประโยชน์ให้สมาชิกในทีมได้รู้จักกันมากขึ้นและเร็วขึ้น
3)  ข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศในหลักสูตร (Course information) เพื่อให้สมาชิกในทีมสามารถโพสท์สารสนเทศต่างๆ ที่จำเป็นในคอร์ส เช่น ภาระหน้าที่ของสมาชิกในทีม เป้าหมายของทีม วัตถุประสงค์ แผนการประชุม ปฏิทินกิจกรรมต่างๆ ตลอดหลักสูตร เป็นต้น
4)  เอกสารของหลักสูตร (Course documents) ระบบ e-Learning จะสามารถเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร อาทิ word sheets ไฟล์เอกสารสำหรับปฏิบัติงานของสมาชิกในทีม เอกสารการประชุม กำหนดการประชุม รายงานการประชุม เอกสารการนำเสนอต่างๆ งานวิจัยที่อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์ ซึ่งสมาชิกในทีมสามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
5)  งานที่มอบหมาย (Assignment) หัวหน้าทีมสามารถมอบหมายงานหรือหน้าที่ที่สมาชิกในทีมต้องรับผิดชอบ ในพื้นที่ที่ระบบจัดให้เช่นเดียวกับการมอบหมายงานในห้องเรียนปกติ
6)  รูปแบบการติดต่อสื่อสาร (Communication feature) ในระบบ e-Learning สามารถเลือกรูปแบบการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกในทีมได้ อาทิ
การจัดการความรู้ในทีมกับ e-Learning
                การจัดการความรู้เป็นกระบวนการที่เป็นระบบในการค้นหา สร้าง รวบรวม จัดเก็บ เผยแพร่ ถ่ายทอด แบ่งปัน และใช้ความรู้  การจัดการความรู้มีองค์ประกอบสำคัญคือ คน เทคโนโลยี และกระบวนการความรู้ (Knowledge Process) โดยที่ คนจัดเป็นแหล่งความรู้และเป็นผู้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ส่วนเทคโนโลยีเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการค้นหา รวบรวม จัดเก็บ แลกเปลี่ยน รวมทั้งนำความรู้ไปใช้ได้อย่างง่ายและรวดเร็วขึ้น สุดท้ายกระบวนการความรู้ เป็นการบริหารจัดการเพื่อนำความรู้จากแหล่งความรู้ไปให้ผู้ใช้ก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ โดยองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนจะต้องเชื่อมโยงและบูรณาการอย่างสมดุล
                e-Learning ก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางการศึกษาที่เป็นแหล่งความรู้ที่ออกแบบและบันทึกในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ เผยแพร่ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานที่ และสำหรับทุกคนอย่างเหมาะสมดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  การนำ e-Learning มาใช้นับเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่สามารถสนับสนุนการจัดการความรู้ในชั้นเรียน อันจะส่งผลสัมฤทธิ์ต่อการจัดการเรียนการสอน ซึ่งในปัจจุบันe-Learning มีลักษณะเป็น Web Collaborative Learning ที่เน้นการเรียนรู้เป็นทีมและยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมีสื่อและเครื่องมือหลายตัวมาช่วยในกระบวนการความรู้
การเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน

การเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน Peer Assist
ความเป็นมา
            “เพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Assist) เป็นเครื่องมือที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใช้ครั้งแรกที่บริษัท BP-Amoco ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของประเทศอังกฤษ โดยการสร้างให้เกิดกลไกการเรียนรู้ประสบการณ์ผู้อื่น ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์หรือร่วมวิชาชีพ (peers) ก่อนที่จะเริ่มดำเนินกิจกรรมหรือโครงการใดๆ ทั้งนี้ความหมายของ “เพื่อนช่วยเพื่อน จะเกี่ยวข้องกับ
- การประชุมหรือการปฏิบัติการร่วมกันโดยมีผู้ที่ได้รับเชิญจากทีมภายนอก หรือทีมอื่น (ทีมเยือน) เพื่อมาแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ กับทีมเจ้าบ้าน (ทีมเหย้า) ที่เป็นผู้ร้องขอความช่วยเหลือ- เครื่องมือสำหรับแบ่งปันประสบการณ์ ความเข้าใจ ความรู้ ในเรื่องต่างๆ
 - กลไกสำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างบุคคลสำหรับข้อดีของการทำ Peer Assist นั้น ได้แก่
- เป็นกลไกการเรียนรู้ก่อนลงมือทำกิจกรรม (Learning Before Doing) ผ่านประสบการณ์ผู้อื่น เพื่อให้รู้ว่าใครรู้อะไร และไม่ทำผิดพลาดซ้ำในสิ่งที่เคยมีผู้ทำผิดพลาด ตลอดจนเรียนลัดวิธีการทำงานต่าง ๆ ที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนจากประสบการณ์ของทีมผู้ช่วยภายนอก
แนวคิดทฤษฎี
            เมื่อจะเริ่ม "ลงมือทำ" เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เราไม่เคยทำ หรือไม่สันทัด หรือยังได้ผลไม่เป็นที่พอใจ ขั้นตอนแรกของการจัดการความรู้คือหาข้อมูล (ความรู้) ว่าเรื่องนั้นๆ มีบุคคลหรือกลุ่มคน ที่ไหน หน่วยงานใด ที่ทำได้ผลดีมาก (best practice) และถือเป็นกัลยาณมิตร (peers) ที่อาจช่วยแนะนำหรือให้ความรู้เราได้ กัลยาณมิตรนี้อาจเป็นเพื่อนร่วมงานในหน่วยงานเดียวกัน อาจเป็นหน่วยงานอื่นในองค์กรเดียวกัน หรือเป็นคนที่อยู่ในองค์กรอื่นก็ได้ แล้วติดต่อขอเรียนรู้วิธีทำงานจากเขา ไปเรียนรู้จากหน่วยงาน จะโดยวิธีไปดูงาน โทรศัพท์หรือ e-mail ไปถาม เชิญมาบรรยาย หรือวิธีอื่นๆ ก็ได้ หลักคิดในเรื่องนี้ก็คือ มีคนอื่นที่เขาทำได้ดีอยู่แล้ว ในเรื่องที่เราอยากพัฒนาหรือปรับปรุง ไม่ควรเสียเวลาคิดขึ้นใหม่ด้วยตนเอง ควร "เรียนลัด" โดยเอาอย่างจากผู้ที่ทำได้ดีอยู่แล้ว เอามาปรับใช้กับงานของเรา แล้วพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ย้ำว่าการเรียนรู้จากกัลยาณมิตรนี้จะต้องไม่ใช่ไปลอกวิธีการของเขามาทั้งหมด แต่ไปเรียนรู้แนวคิดและแนวปฏิบัติของเขาแล้วเอามาปรับปรุงใช้งานให้เหมาะสมต่อสภาพการทำงานของเรา

วิธีการแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน
          วิธีการแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน สามารถทำได้ ดังนี้
            1. กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าทำ “เพื่อนช่วยเพื่อน ทำไปเพื่ออะไร อะไรคือต้นตอของปัญหาที่ต้องการขอความช่วยเหลือ
            2. ตรวจสอบว่าใครที่เคยแก้ปัญหาที่เราพบมาก่อนบ้างหรือไม่ โดยทำแจ้งแผนการทำ “เพื่อนช่วยเพื่อน ของทีมให้หน่วยงานอื่นๆ ได้รับรู้ เพื่อหาผู้ที่รู้ในปัญหาดังกล่าว
            3. กำหนด Facilitator (คุณอำนวย) หรือผู้สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ
            4. คำนึงถึงการวางตารางเวลาให้เหมาะสมและทันต่อการนำไปใช้งาน หรือการปฏิบัติจริง โดยอาจเผื่อเวลาสำหรับปัญหาที่ไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้น
            5. ควรเลือกผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มีความหลากหลาย (Diverse) ทั้งด้านทักษะ (Skill) ความสามารถ/ความเชี่ยวชาญ (Competencies) และประสบการณ์ (Experience) สำหรับจำนวนผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 6-8 คนก็เพียงพอ
            6. มุ่งหาผลลัพธ์หรือสิ่งที่ต้องการได้รับจริงๆ กล่าวคือ การทำ “เพื่อนช่วยเพื่อน นั้นจะต้องมองให้ทะลุถึงปัญหา สร้างทางเลือกหลายๆ ทาง มากกว่าที่จะใช้คำตอบสำเร็จรูปทางใดทางหนึ่ง
            7. วางแผนเวลาสำหรับการพบปะสังสรรค์ทางสังคม หรือการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ (นอกรอบ)
            8. กำหนดบทบาทของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน ตลอดจนสร้างบรรยากาศ เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
            9. แบ่งเวลาที่มีอยู่ออกเป็น 4 ส่วน คือ
                        - ส่วนแรกใช้สำหรับทีมเจ้าบ้านแบ่งปันข้อมูล (Information) บริบท (Context) รวมทั้งแผนงานในอนาคต
                        - ส่วนที่สองใช้สนับสนุน หรือกระตุ้นให้ทีมผู้ช่วยซึ่งเป็นทีมเยือนได้ซักถามในสิ่งที่เขาจำเป็นต้องรู้
                        - ส่วนที่สาม ใช้เพื่อให้ทีมผู้ช่วยซึ่งเป็นทีมเยือนได้นำเสนอมุมมองความคิด เพื่อให้ทีมเจ้าบ้านนำสิ่งที่ได้ฟังไปวิเคราะห์
            จากความเป็นมา แนวคิดทฤษฎี และวิธีการแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน เราสามารถแบ่งประเภทของ “เพื่อนช่วยเพื่อน ได้ 3 ประเภท ดังนี
  1. การสอนแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน
            กิจกรรมอย่างหนึ่งที่จัดให้ผู้เรียนได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่เสมอ คือ เพื่อนช่วยเพื่อนในลักษณะ เก่งช่วยอ่อน ซึ่งเป็นวิธีการที่ผู้เรียนให้ความสนใจมาก คนเก่งจะจัดกระบวนการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมความสามารถของผู้เรียน โดยเฉพาะวิชาการด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิด วางแผน ปฏิบัติ และประเมินผล ให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนรู้ ได้พิจารณา และค้นพบความรู้ความสามารถของตนเองให้ผู้เรียนมองเห็นภาพลักษณ์แห่งตน ตัวตนในอุดมคติ และการเห็นคุณค่าตนเอง ต่อความสำเร็จในการเรียนการสร้างเว็บไซต์ ภาษา HTML สิ่งเหล่านี้จะช่วยหล่อหลอมให้ผู้เรียน รักและมีความพร้อมที่จะเรียน มีความสุขในการเรียนรู้ และร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง
            การสอนด้วยวีการ “เพื่อนช่วยเพื่อน
            การสอนด้วยวิธีการให้เพื่อนช่วยเพื่อนเป็นวิธีการที่มุ่งให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจต่อการเรียนมากขึ้น เนื่องจากนักเรียนทุกคนเป็นผู้ที่มีบทบาทในกิจกรรมการเรียนการสอน การนำวิธีการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนมาช่วยแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอน ควรจะต้องสร้างแรงจูงใจแก่เพื่อนนักเรียนที่ช่วยสอน ให้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทั้งรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกแห่งความสำเร็จ ด้วยการหากิจกรรมที่กระตุ้นให้นักเรียนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือครูและเพื่อนนักเรียนอย่างเต็มใจและพึงพอใจ
            ผู้สอนจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาทักษะความสามารถของผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ ด้วยการออกแบบกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่  มีความสุข การจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีความสุข ทั้งกายและใจนั้น จะเริ่มจากการสร้างความศรัทธาทั้งต่อตัวผู้สอน และต่อวิชาที่เรียน ให้เกิดในตัวผู้เรียน ให้ผู้เรียนมองเห็นถึงความจริงใจของผู้สอน
            การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน
            ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ยอมรับว่าผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพ ปฏิบัติต่อผู้เรียนในลักษณะกัลยาณมิตร และเข้าใจในความเป็นตัวเขา นอกจากนั้น การสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนหรือการให้ผู้เรียนช่วยสอนกันเองนี้ เป็นวิธีการที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์ทางด้านวิชาการด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย การเรียนการสอนแบบนี้ได้มีการพัฒนาและนำมาใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปตามจุดมุ่งหมายและวิธีการได้รับการตอบสนองความต้องการในระดับแรกๆ ก่อนเท่านั้น เมื่อก้าวผ่านขั้นหนึ่งไป มนุษย์เราจะมีความต้องการสูงขึ้นไปทีละขั้นเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ผู้ศึกษาได้คิดค้นนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน การสร้างเว็บไซต์ ภาษา HTML ด้วยการดัดแปลงกระบวนการสอนซ่อมเสริมแบบเพื่อนช่วยเพื่อน มาบูรณาการเข้ากับวิธีการดำเนินธุรกิจเครือข่าย Direct Sales (ขายตรง)ด้วยการสร้างกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโดยส่วนรวมสูงขึ้น และเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
รวมถึงนักเรียนที่ไม่บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ ให้สามารถเรียนรู้ผ่านตามเกณฑ์การประเมินจุดประสงค์
2. การให้คำปรึกษาแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน
          การให้คำปรึกษาแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน หมายถึง การให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ และเป็นรากฐานสำคัญในการสนับสนุนผู้รับคำปรึกษาให้ดำเนินชีวิตอย่างอิสระ โดยปฏิสัมพันธ์ที่จะ “ให้ และ “รับ ความช่วยเหลือเท่าเทียมกันอย่างเพื่อน ได้มาฟังความรู้สึกและเล่าเรื่องราวของตนเอง เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง มีความเข้มแข็ง สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ
            การให้คำปรึกษาแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน แตกต่างจากการให้คำปรึกษาอย่างอื่นอย่างไร?
          ในกระบวนการให้คำปรึกษาฉันเพื่อน มีผู้รับฟังเรียกว่า “ผู้ให้คำปรึกษาแบบเพื่อน (Peer Counselor) กับผู้เล่าเรื่อง เรียกว่า “ผู้รับคำปรึกษาแบบเพื่อน (Client) โดยแบ่งเวลาฝ่ายละเท่าๆกัน และสลับบทบาทระหว่างผู้เล่าเรื่องกับผู้รับฟังตามเวลาที่กำหนด เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสนับสนุนซึ่งกันและกัน จะส่งผลที่พึงพอใจแก่ผู้รับคำปรึกษาฉันเพื่อน ได้รับรู้และเข้าใจเรื่องราวของตนอย่างแท้จริง ทำให้ยอมรับและรักตนเอง นำมาซึ่งความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าที่จะเผชิญความเปลี่ยนแปลงต่างๆและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข แต่การปรึกษาของผู้เชียวชาญ หรือหมอผู้รับคำปรึกษาจะเป็นฝ่ายที่จะนั่งรับฟังเรื่องราวต่างๆเพียงฝ่ายเดียว และผู้เชียวชาญหรือหมอจะเป็นคนให้คำแนะนำเพื่อให้ปฏิบัติตามเท่านั้น ดังนั้นการให้คำปรึกษาแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน จะสร้างความเข้าใจ ทัศนคติต่างๆและก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างผู้รับและผู้ให้มากกว่าการให้คำปรึกษาแบบเป็นผู้รับคำปรึกษาเพียงอย่างเดียว
ข้อตกลงหรือข้อสัญญาในการให้คำปรึกษามีข้อที่ควรปฏิบัติทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้
            1. แบ่งเวลาโดยเท่าเทียมกัน การให้คำปรึกษาแบบเพื่อนช่วยเพื่อนให้ความสำคัญกับการแบ่งเวลาอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อจะได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้อย่างเต็มที่ สิ่งหนึ่งที่ต้องเสมอภาคกันไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทั้งสองฝ่ายมีเวลาเท่าเทียมกัน โดยการที่ให้ผู้ขอรับคำปรึกษาเป็นผู้กำหนดว่าต้องการเวลาเท่าไหร่ แต่ต้องไม่นานเกินไป ทั้งสองฝ่ายจะต้องเป็นผู้ตกลงกันอย่างเท่าเทียมเสมอ ที่ต้องมีกฎข้อนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่พูดเก่งแย่งเวลาไปหมด จนคนที่พูดไม่เก่งไม่ได้พูดอะไรเลย
            2. รักษาความลับเป็นส่วนตัว การให้คำปรึกษาต้องรับประกันได้ว่าผู้ให้คำปรึกษาจะไม่เปิดเผยหรือพูดเรื่องของผู้มารับคำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องเก็บเป็นความลับและต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ที่รับคำปรึกษาเสมอ เพราะเป็นการทำให้เกิดการไว้วางใจและรู้สึกปลอดภัยทางด้านจิตใจแก่ผู้มารับคำปรึกษา ที่ต้องมีกฎข้อนี้เพราะว่า จะทำให้ผู้รับคำปรึกษากล้าที่จะพูดเรื่องส่วนตัว และสามารถปลดปล่อยได้อย่างเต็มที่ ไม่เกิดความกังวล
            3. ไม่ปฏิเสธ ไม่ตำหนิ เมื่อมีผู้มาขอรับคำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาต้องแสดงให้ผู้มารับคำปรึกษารับรู้ว่า เรายินดีที่จะรับฟังปัญหาของเขาและเชื่อในสิ่งที่เขาพูดอย่างตั้งใจ เมื่อฟังแล้วต้องไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ และไม่ปฏิเสธในสิ่งที่เขาเล่ามา ที่ต้องมีกฎข้อนี้เพราะว่า หากผู้รับคำปรึกษาถูกปฏิเสธ หรือถูกตำหนิเขาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสำคัญ ทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง
            4. ไม่ให้คำแนะนำ ไม่ชี้ทางแก้ไข ผู้ให้คำปรึกษาเมื่อได้รับฟังปัญหาจากผู้มาขอคำปรึกษาแล้ว จะต้องไม่แสดงความคิดเห็นหรือแนะนำวิธีการแก้ปัญหา เพราะการแนะนำอาจจะไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องสำหรับคนที่มาขอคำปรึกษาเสมอไป เพราะผู้ที่จะเข้าใจปัญหานั้นได้ดีและจะแก้ปัญหานั้นได้ก็ต้องเป็นตัวของผู้รับคำปรึกษาเอง โดยเราจะต้องเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนมีพลัง มีความสามรถที่จะแก้ปัญหาของตนเอง อย่างน้อยการที่เขาได้มีโอกาสระบายความรู้สึกที่เก็บกดออกมา ก็จะสามารถทำให้เขาได้เรียบเรียงปัญหาและเห็นปัญหาของเขาเอง และในเมื่อเขาเห็นชัดว่า ปัญหาของเขาคืออะไร ในที่สุดเขาก็จะสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ และจะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นของตัวเองกลับคืนมาด้วย
          3. กลวิธีการเรียนรู้แบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน
กลวิธีการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นคู่หรือกลุ่มย่อย ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้สอนและผู้เรียน เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทเรียน ครูผู้สอนมีบทบาทหน้าที่เป็นพียงผู้ให้คำแนะนำและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน
          รูปแบบกลวิธีการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน
            นักการศึกษาหลายท่านได้ประมวลการสอนที่มีแนวคิดจากกลวิธีการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนไว้มากมาย มีรายละเอียดดังนี้
            1. การสอนโดยเพื่อนร่วมชั้น (Classwide-Peer Tutoring) เป็นการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทั้งสองคนที่จับคู่กันมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน โดยให้ผู้เรียนทั้งสองสลับบทบาทเป็นทั้งนักเรียนผู้สอนที่คอยถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนผู้เรียน และนักเรียนผู้เรียนซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการสอน
            2. การสอนโดยเพื่อนต่างระดับชั้น (Cross-Age Peer Tutoring) เป็นการสอนที่มีการจับคู่ระหว่างผู้เรียนที่มีระดับอายุแตกต่างกัน โดยให้ผู้เรียนที่มีระดับอายุสูงกว่าทำหน้าที่เป็นผู้สอนและให้ความรู้ ซึ่งผู้เรียนทั้งสองคนไม่จำเป็นต้องมีความสามารถทางการเรียนที่แตกต่างกันมาก
            3. การสอนโดยการจับคู่ (One-to-One Tutoring) เป็นการสอนที่ให้ผู้เรียนที่มีความสามารถทางการเรียนสูงกว่าเลือกจับคู่กับผู้เรียนที่มีความสามารถทางการเรียนต่ำกว่าด้วยความสมัครใจของตนเอง แล้วทำหน้าที่สอนในเรื่องที่ตนมีความสนใจ มีความถนัดและมีทักษะที่ดี
            4. การสอนโดยบุคคลทางบ้าน (Home-Based Tutoring) เป็นการสอนที่ให้บุคคลที่บ้านของผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสอน ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาความรู้ความสามารถแก่บุตรหลานของตนระหว่างที่บุตรหลานอยู่ที่บ้าน
หลักการใช้กลวิธีการเรียนรู้แบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน
การให้เพื่อนช่วยเพื่อนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ควรดำเนินไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
            1. เพื่อนผู้สอนจะต้องมีทักษะที่จำเป็น เช่น ความเข้าใจในจุดประสงค์ของการสอนจำแนกได้ว่า คำตอบที่ผิดและคำตอบที่ถูกต่างกันอย่างไร รู้จักการให้แรงเสริมแก่เพื่อนผู้เรียน รู้จักบันทึกความก้าวหน้าในการเรียนของเพื่อนผู้เรียน และมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนผู้เรียน
            2. กำหนดจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมให้ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลทั้งสองช่วยกันบรรลุเป้าหมายในการเรียน
            3. ครูเป็นผู้กำหนดขั้นตอนในการสอนให้ชัดเจนและให้เพื่อนผู้เรียนดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านั้น
            4. สอนทีละขั้นหรือทีละแนวคิดจนกว่าเพื่อนผู้เรียนเข้าใจดีแล้ว จึงสอนขั้นต่อไป
            5. ฝึกให้เพื่อนผู้สอนเข้าใจพฤติกรรมการแสดงออกของเพื่อนผู้เรียนด้วยว่า พฤติกรรมใดแสดงว่าเพื่อนผู้เรียนไม่เข้าใจ ทั้งนี้จะได้แก้ไขให้ถูกต้อง
            6. เพื่อนผู้สอนควรบันทึกความก้าวหน้าในการเรียนของเพื่อนผู้เรียนตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่กำหนดไว้
            7. ครูผู้ดูแลรับผิดชอบจะต้องติดตามผลการสอนของเพื่อนผู้สอนและการเรียนของเพื่อนผู้เรียนด้วยว่าดำเนินการไปในลักษณะใด มีปัญหาหรือไม่
            8. ครูให้แรงเสริมแก่ทั้ง 2 คนอย่างสม่ำเสมอ
            9. ช่วงเวลาในการให้เพื่อนช่วยเพื่อนไม่ควรใช้เวลานานเกินไป งานวิจัยระบุว่าระยะเวลาที่มีประสิทธิภาพในการให้เพื่อนช่วยเพื่อนในระดับชั้นประถมศึกษาอยู่ระหว่าง 15-30 นาที
            10. เพื่อนผู้สอนมีการยกตัวอย่างประกอบการสอน จึงจะช่วยให้เพื่อนผู้เรียนเรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น

ประโยชน์ของ “เพื่อนช่วยเพื่อน
          1. เป็นการเรียนลัดวิธีการเรียน การทำงานต่างๆที่เราอาจจะเคยทราบมาก่อน สิ่งเหล่านี้จะมาจากประสบการณ์ เทคนิควิธีต่างๆของคู่เพื่อนช่วยเพื่อนหรือทีมเพื่อนช่วยเพื่อน
            2. เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ มุมมองความคิดต่างๆร่วมกันเพื่อช่วยกันพัฒนาความรู้เดิมที่มีอยู่ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
            3. สร้างความสัมพันธ์และความสามัคคี เพราะกระบวนการเพื่อนช่วยเพื่อนต้องเกิดจากการทำงานเป็นคู่หรือเป็นทีม ดังนั้นการมีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อกันย่อมทำให้เกิดผลการเรียนรู้ที่ดีตามมา
เอกสารอ้างอิง
ฉัตรชัย ไชยวุฒิ. (2552). การใช้กระบวนการนิเทศแบบเพื่อนช่วยเพื่อนในโรงเรียนอนุบาลสภาพร. การค้นคว้าแบบอิสระ   ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ชีวัน บุญตั๋น. (2546). การใช้กลวิธีการเรียนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษ และการมองเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4. วิทยานิพนธ์ ศึกษาศาสตมหาบัณฑิต  บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้